ยินดีต้อนรับสู่การเรียนรู้ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครพนม

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ให้นิสิตประกาศนียบัตรวิชาชีพครู มจร.วส.นพ. ค้นคว้าดังนี้

ประเด็นที่ ๑ ศึกษาค้นคว้า รูปแบบการสอน-วิธีการสอน-เทคนิคการสอนอย่างละ ๑ ชนิด เป็นกลุ่มๆ ละ ๑๐ คน
ประเด็นที่ ๒ หัวข้อรายงานการสอนแต่ละอย่าง คือ ๑) ชื่อ ๒) เป้าหมายของการสอน ๓) ขั้นตอนการสอน ๔) แหล่งอ้างอิงที่ค้นคว้า
ประเด็นที่ ๓ ให้เลือกตัวแทนกลุ่ม ๒ คน ออกมาพูดรูปแบบวิธี-เทคนิคการสอนเพื่อเสนอและสาธิตในชั้นเรียน ๑ การสอน

หมายเหตุ : ประเด็นที่ ๑ และ ๒ สามารถ share knowledge ลงใน Blog นี้ได้ แต่สำหรับประเด็นที่ ๓ ต้องนำเสนอที่ห้องเรียน มจร.วส.นพ.
ภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ นี้

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การจัดการการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ตามระเบียงเศรษฐกิจ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบทและศักยภาพทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านชาติพันธุ์ ตามเส้นทางนครพนม คำม่วน กวางบิงห์ กวางตริ และมุกดาหาร 2) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านชาติพันธุ์ ตามเส้นทางนครพนม คำม่วน กวางบิงห์ กวางตริ และมุกดาหาร 3) เพื่อศึกษาแนวทางความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ตามเส้นทางคำม่วน กวางบิงห์ กวางตริ และมุกดาหาร และ 4) เพื่อประเมินศักยภาพทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านชาติพันธุ์ตามเส้นทางนครพนม คำม่วน กวางบิงห์ กวางตริ และมุกดาหาร
ในการเก็บข้อมูลได้ใช้เครื่องมือ คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง กล้องถ่ายภาพนิ่งและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ในประเทศไทย เริ่มต้นจากชนเผ่าแสก บ้านอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เส้นทางหมายเลข 12 ในลาวและเวียดนาม เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก จังหวัดคำม่วน และจังหวัดกวางบิงห์ ประเทศเวียดนาม และเส้นทางหมายเลข 9 ในประเทศลาวและเวียดนาม เริ่มต้นจากเมือง ท่าแขก จังหวัดคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถึงจังหวัดกวางตริ ประเทศเวียดนาม และพื้นที่ต่อเนื่องในประเทศไทย เริ่มต้นจากชนเผ่าโส้ บ้านหนองยางน้อย อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร และชนเผ่าไทยกวน อำเภอธาตุพนม และชนเผ่าผู้ไทย อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม จำนวนทั้งหมด 240 คน ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และประเพณีของแต่ละชาติพันธุ์เป็นชุมชนที่มีความสำคัญทาง
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาจึงเกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรมของชนหลายชาติพันธุ์ได้อย่างกลมกลืนจนเกิดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชุมชนและมีการสืบทอด ดำรงรักษาเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดงานประเพณีทั้งที่ปฏิบัติเป็นประจำทุกรอบปีตามฮีตสิบสอง และประเพณีและวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตนับแต่เกิดจนกระทั่งตาย การประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ ภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ของแต่ละชุมชนชาติพันธุ์
นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมแต่ละชุมชนชาติพันธุ์ส่วนมากแล้วมาเพื่อศึกษาและดูงานทางด้านวัฒนธรรมโดยมาเป็นหมู่คณะ และในด้านศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงชาติพันธุ์ของแต่ละชาติพันธุ์ มีศักยภาพในด้านคุณค่าทางการศึกษา ความปลอดภัยสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ศักยภาพในด้านความพร้อมของบุคลากร การประชาสัมพันธ์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ควรมีการปรับปรุงและพัฒนา นอกจากนี้ต้องมีการเพิ่มเติมศักยภาพทางด้านสาธารณูปโภคขั้นสูงในสิ่งต่างๆ ในเฉพาะบางชุมชนชาติพันธุ์ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าของ ที่ระลึก ห้องสุขาสำหรับนักท่องเที่ยว และศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
แนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของแต่ละชุมชนชาติพันธุ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ได้เลือกแนวคิดทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เลือกรูปแบบชุมชนบริหารจัดการเองโดยมีองค์กรภายนอกสนับสนุนให้คำปรึกษา และควรมีการวางแนวทางการพัฒนาในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลทางการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก และจัดสร้างห้องสุขาสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ควรมีการวางแผนแนวทางพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของแต่ละชาติพันธุ์ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการในลักษณะของการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ